ผู้เขียน หัวข้อ: Doctor At Home: มะเร็งลูกตาในเด็ก (Retinoblastoma)  (อ่าน 4 ครั้ง)

siritidaphon

  • Jr. Member
  • **
  • กระทู้: 81
  • รับจ้างโพส ,รับโพสเว็บ, โปรโมทเว็บ ราคาประหยัด
    • ดูรายละเอียด
Doctor At Home: มะเร็งลูกตาในเด็ก (Retinoblastoma)
« เมื่อ: วันที่ 6 กันยายน 2024, 17:44:49 น. »
Doctor At Home: มะเร็งลูกตาในเด็ก (Retinoblastoma)

มะเร็งลูกตาในเด็ก หมายถึงมะเร็งของเนื้อเยื่อจอตา (retina) เป็นมะเร็งที่พบได้น้อย พบได้ประมาณร้อยละ 2 ของมะเร็งที่พบในเด็ก (อายุต่ำกว่า 15 ปี)

มักพบก่อนอายุ 4 ปี อาจพบในผู้ใหญ่ได้ แต่น้อยมาก

ส่วนใหญ่เป็นเพียงข้างเดียว ประมาณร้อยละ 20-30 เป็นพร้อมกัน 2 ข้าง


สาเหตุ
เกิดจากความผิดปกติของยีนที่เกี่ยวข้องกับการเจริญของตาในช่วงที่เป็นทารกในครรภ์มารดา ทำให้เซลล์ประสาทของจอตาเจริญผิดปกติกลายเป็นเนื้องอกชนิดร้าย ซึ่งลุกลามไปยังส่วนอื่นของตาและอวัยวะนอกเบ้าตาได้

ประมาณ 1/3 ของเด็กที่เป็นโรคนี้เกิดจากความผิดปกติที่ถ่ายทอดทางกรรมพันธุ์ หากมีพ่อหรือแม่คนใดคนหนึ่งเป็นโรคนี้ซึ่งเกิดจากความผิดปกติทางกรรมพันธุ์ บุตรที่เกิดมามีโอกาสรับกรรมพันธุ์ของโรคนี้ถึงร้อยละ 50 ซึ่งมีโอกาสเป็นมะเร็งลูกตาได้ถึงร้อยละ 90 ในกรณีนี้เด็กมักจะเป็นมะเร็งที่ลูกตาทั้ง 2 ข้าง และสามารถถ่ายทอดให้ลูกหลานต่อไปได้

ประมาณ 2/3 ของเด็กที่เป็นโรคนี้เกิดจากการกลายพันธุ์ของยีนของเด็กตั้งแต่เป็นทารกในครรภ์ โดยที่พ่อและแม่ไม่มีความผิดปกติทางกรรมพันธุ์ ในกรณีนี้เด็กมักจะเป็นมะเร็งที่ลูกตาเพียงข้างเดียว และไม่ถ่ายทอดให้ลูกหลานต่อไป


อาการ

ที่สำคัญพ่อแม่จะสังเกตว่าเมื่อใช้ไฟ (หรือไฟแฟลชถ่ายภาพ) ส่องตรงตาดำของเด็ก จะเห็นเป็นสีขาววาวคล้ายตาแมว

เด็กอาจมีอาการตามัวหรือมองไม่เห็น และอาจมีอาการตาเหล่ ตาแดง เปลือกตาบวม

เมื่อเป็นมากขึ้นตาจะเริ่มปูดโปนออกมานอกเบ้าตา


ภาวะแทรกซ้อน

หากไม่ได้รับการรักษา เด็กมักจะตาบอด และอายุสั้น

มะเร็งลูกตาอาจลุกลามไปยังส่วนอื่นของดวงตา และออกนอกเบ้าตา

ในกรณีที่เป็นเพียงข้างเดียวอาจลุกลามไปที่ตาอีกข้างได้

มะเร็งอาจแพร่ไปตามเส้นประสาทตาเข้าไปในสมอง รวมทั้งอาจแพร่กระจายไปยังอวัยวะอื่น เช่น กระดูก ปอด เป็นต้น

นอกจากนี้ยังพบว่าผู้ป่วยที่เกิดจากความผิดปกติที่ถ่ายทอดทางกรรมพันธุ์ อาจมีความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งชนิดอื่นในเวลาต่อมา เช่น มะเร็งต่อมไพเนียล (pineoblastoma) มะเร็งกระดูก (osteosarcoma) มะเร็งกล้ามเนื้อ (sarcoma) มะเร็งผิวหนัง (melanoma) เป็นต้น จึงควรให้แพทย์คอยเฝ้าติดตามอย่างต่อเนื่อง


การวินิจฉัย

แพทย์จะวินิจฉัยโดยการใช้เครื่องมือตรวจจอตา ทำการตรวจด้วยอัลตราซาวนด์ ถ่ายภาพด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า หรือเอกซเรย์คอมพิวเตอร์

บางรายแพทย์อาจเจาะหลังนำน้ำไขสันหลังไปตรวจหาเซลล์มะเร็ง หรือทำการตรวจไขกระดูกว่ามีมะเร็งแพร่กระจายไปที่ไขกระดูกหรือยัง


การรักษาโดยแพทย์

การรักษาขึ้นกับขนาดและตำแหน่งของมะเร็ง การแพรก่ระจายของมะเร็ง และสภาพร่างกายของผู้ป่วย

แพทย์จะให้เคมีบำบัดในรายที่เป็นระยะแรกเริ่ม เพื่อให้ก้อนมะเร็งฝ่อเล็กลง แล้วใช้วิธีอื่นรักษาต่อ เช่น รังสีบำบัด (radiation therapy) การบำบัดด้วยความเย็น (cryotherapy) การบำบัดด้วยความร้อน (thermotherapy) หรือเลเซอร์ (laser therapy) ซึ่งช่วยให้ไม่ต้องผ่าตัดเอาลูกตาออก

ในรายที่มะเร็งมีการแพร่กระจายออกนอกเบ้าตา แพทย์จะให้การรักษาด้วยเคมีบำบัดและรังสีบำบัด

ในรายที่โรคเป็นมากจนไม่อาจรักษาด้วยวิธีอื่น แพทย์จะทำการผ่าตัดเอาลูกตาออก และใส่ดวงตาเทียมเข้าไปแทนที่ในเบ้าตา (เพื่อความสวยงามแต่ใช้การไม่ได้)

ผลการรักษา หากได้รับการรักษาตั้งแต่ระยะแรกเริ่ม มีโอกาสหายขาดได้ถึงร้อยละ 90 แต่บางรายหลังการรักษาจนโรคหายแล้ว อาจเกิดมะเร็งชนิดนี้กำเริบได้ใหม่ หรือเด็กที่เป็นมะเร็งลูกตา 2 ข้างหรือเกิดจากการถ่ายทอดทางกรรมพันธุ์ อาจเกิดมะเร็งชนิดอื่นตามมาในภายหลัง แพทย์จำเป็นต้องติดตามดูอาการเป็นระยะ


การดูแลตนเอง

หากสงสัย เช่น สังเกตเห็นตาดำของเด็กมีสีขาววาวคล้ายตาแมว (เห็นชัดเมื่อใช้ไฟส่อง) เด็กมีอาการตามัว มองเห็นไม่ชัด ตาเหล่ ตาแดง หรือตาโปน ควรปรึกษาแพทย์

เมื่อตรวจพบว่าเป็นมะเร็งลูกตาในเด็ก ควรดูแลตนเอง ดังนี้

    รักษา กินยา และปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์
    ติดตามรักษากับแพทย์ตามนัด
    หลีกเลี่ยงการซื้อยามากินเอง
    กินอาหารให้ครบ 5 หมู่ เน้นผัก ผลไม้ ธัญพืช โปรตีนที่มีไขมันน้อย (เช่น ปลา ไข่ขาว เต้าหู้ ผลิตภัณฑ์จากถั่วเหลือง)
    นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ และหาทางผ่อนคลายความเครียด
    ออกกำลังกายและทำกิจกรรมต่าง ๆ รวมทั้งงานอดิเรกที่ชอบ และงานจิตอาสา เท่าที่ร่างกายจะอำนวย
    ทำสมาธิ เจริญสติ หรือสวดมนต์ภาวนาตามหลักศาสนาที่นับถือ
    ถ้ามีโอกาสควรหาทางเข้าร่วมกิจกรรมของกลุ่มเพื่อนช่วยเพื่อน หรือกลุ่มมิตรภาพบำบัด
    ผู้ป่วยและญาติควรหาทางเสริมสร้างกำลังใจให้ผู้ป่วย ยอมรับความจริง และใช้ชีวิตในปัจจุบันให้ดีและมีคุณค่าที่สุด
    ถ้าหากมีเรื่องวิตกกังวลเกี่ยวกับโรคและวิธีบำบัดรักษา รวมทั้งการแสวงหาทางเลือกอื่น (เช่น การใช้สมุนไพร ยาหม้อ ยาลูกกลอน การนวด ประคบ การฝังเข็ม การล้างพิษ หรือวิธีอื่น ๆ) ควรขอคำปรึกษาจากแพทย์ และทีมสุขภาพที่ดูแลประจำและรู้จักมักคุ้นกันดี

ควรกลับไปพบแพทย์ก่อนนัด ถ้ามีลักษณะข้อใดข้อหนึ่ง ดังต่อไปนี้

    มีอาการตามัว ตาแดง ปวดตามาก ปวดศีรษะมาก อาเจียนมาก ชัก แขนขาชาหรืออ่อนแรง หายใจหอบ อ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย หรือหน้าตาซีดเซียว
    สงสัยมีมะเร็งลูกตากำเริบใหม่
    ขาดยา ยาหาย หรือกินยาไม่ได้
    ในรายที่แพทย์ให้ยากลับไปกินต่อที่บ้าน กินยาแล้วสงสัยเกิดผลข้างเคียงจากยา เช่น มีลมพิษ ผื่นคัน ตุ่มพุพอง ตาบวม ปากบวม ปวดท้อง ท้องเดิน คลื่นไส้ อาเจียน จุดแดงจ้ำเขียว หรือมีอาการผิดปกติอื่น ๆ

การป้องกัน
ยังไม่มีวิธีป้องกันที่ได้ผล เนื่องจากยังไม่ทราบปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคนี้ และส่วนหนึ่งเกิดจากความผิดปกติทางกรรมพันธุ์


ข้อแนะนำ

1. เด็กที่มีญาติสายตรงเป็นมะเร็งชนิดนี้ ควรให้แพทย์ตรวจดูตาอย่างสม่ำเสมอตั้งแต่หลังคลอด

2. ถ้าพ่อแม่ผู้ปกครองสังเกตเห็นตาของเด็กมีความผิดปกติ ควรรีบไปปรึกษาแพทย์ และดูแลรักษาตามคำแนะนำของแพทย์ หากจำเป็นต้องผ่าตัดเอาลูกตาออก พ่อแม่ควรสอบถามแพทย์ให้เกิดความเข้าใจและยอมรับ ไม่ควรปฏิเสธการรักษาโดยวิธีนี้ ซึ่งจะทำให้เด็กได้รับอันตรายและอายุสั้นได้

3. ปัจจุบันมีวิธีบำบัดรักษาโรคมะเร็งใหม่ ๆ ที่อาจช่วยให้โรคหายขาดหรือทุเลา หรือช่วยให้มีคุณภาพชีวิตดีขึ้น ผู้ป่วยจึงควรติดต่อรักษากับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรคมะเร็ง มีความมานะอดทนต่อผลข้างเคียงของการรักษาที่อาจมีได้ อย่าเปลี่ยนแพทย์ เปลี่ยนโรงพยาบาลโดยไม่จำเป็น หากสนใจจะแสวงหาทางเลือกอื่น (เช่น การใช้สมุนไพร หรือวิธีอื่น ๆ) ควรขอคำปรึกษาจากแพทย์ และทีมสุขภาพที่ดูแลประจำและรู้จักมักคุ้นกันดี